Palm & Handspring

หลังจากที่ Palm สั่งสมประสบการณ์จากการทำ software ให้เครื่อง GRiD และ Zoomer มา ตั้งแต่ 1992 และสร้างหลักการออกแบบ UX ของ PDA ที่เรียกว่า The Zen of Palm ขึ้นมา พอประสบโอกาสที่ US Robotic เข้ามาลงทุนก็ได้ออกเครื่องของตัวเองในปี 1996 ตั้งชื่อเครื่องว่า Palm Pilot

ทันทีที่ออกตลาดก็ประสบความสำเร็จล้นหลาม และเนื่องจากเป็นเครื่อง PDA ที่มี stylus จิ้มจอเหมือนปากกา และใช้ชื่อว่า Palm Pilot ก็เลยโดนต้อนรับน้องใหม่ บริษัทปากกา Pilot ยื่นฟ้องว่าใช้ชื่อพ้อง และชนะคดี ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น PalmPilot (เขียนติดกัน) และต่อมาได้เปลี่ยนเป็น Palm เฉยๆ

เรื่องคดีความบ้าบอพวกนี้จะเกิดขึ้นเสมอในตลาดต่างประเทศ ผมก็เคยประสบมาหลายครั้ง บางครั้งก็เอาตัวแทบไม่รอด ค่อยมาเล่าให้ฟังเมื่อมีโอกาส

Palm พัฒนาเครื่องดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ออกรุ่นใหม่ทุกปี ครองตลาด PDA ไปอย่างสวยงาม ตั้งแต่ Pilot 1, Pilot 5000, PalmPilot, Palm III, Palm IIIx, Palm IIIe, Palm V, จนมาถึง Palm VII ในปี 1998 Palm เริ่ม license OS ของตัวเองให้กับผู้ผลิตรายอื่นไปผลิต PDA ดังนั้นจึงมีเครื่อง PDA หน้าตาเหมือน Palm ออกมานับสิบๆยี่ห้อในช่วงนั้น

ตรงนี้ต้องเล่านิดนึงว่า Jeff Hawkins คนคิด Palm นั้นเป็นวิศวกร ไม่ใช่นักบริหาร จึงดึงเอา Donna Dubinsky ผู้บริหารหญิงที่เคยทำงานกับ Claris บริษัทซอฟต์แวร์ในเครือ Apple มาก่อน มาเป็น VP ด้านการตลาด Dubinsky จะเป็นคนเจรจาต่อรองกับภายนอกบริษัทเสมอ

ในปี 1997 US Robotics บริษัทแม่ของ Palm ถูก 3Com ซื้อไปจึงได้ Palm ไปด้วย และ Palm ได้ทำยอดขายถล่มทะลายถึง 2 ล้านเครื่องในสองปี ตอนที่ 3Com ซื้อ Dubinski ได้ต่อรองไว้ว่าต้องแยกบริษัท Palm ให้เป็นบริษัทอิสระ 3Com ถือหุ้นเฉยๆห้ามแทรกแซงการบริหารของ Palm

แต่ด้วยยอดขายที่ดีวันดีคืน Benhamou ซีอีโอของ 3Com ก็เริ่มแทรกแซงการบริหารใน Palm ต้องการให้ออกเครื่องตามที่ 3Com ต้องการ เกิดการแตกหักกับ Dubinski แม้ว่า Benhamou ตกลงที่จะแยกให้ Palm เป็นบริษัทอิสระตามที่ตกลงกัน แต่ Dubinski บอกในที่ประชุมว่า เธอกับ Hawkins ลาออกแล้ว (ทั้งๆที่ยังไม่ได้บอก Hawkins)

ตอนเธอไปบอกเรื่องนี้ Hawkins ก็ตกใจ แต่ก็ตกลงลาออกไปตั้งบริษัท Handspring ร่วมกับ Dubinski และมีมือดีจาก Palm อีกหลายคนยกโขยงตามไปอยู่ Handspring รวมทั้ง Marianetti คนพัฒนา Graffiti ก็ตามมาด้วย

Handspring license Palm OS ไปทำเครื่อง PDA ตามความเชื่อของทีม Palm ไม่ได้คิดอะไรมากเพราะปกติ license ให้บริษัทอื่นอยู่แล้ว และตอนนั้น Palm ถือดีว่ากำลังจะออก Palm VII ซึ่งมี Wireless ในตัว รู้ว่า Handspring ไม่มีทางเทียบ

ธุรกิจการ license OS ของ Palm ไปได้ดีจนแยกเป็นบริษัท Palm Source เพื่อดูแลเรื่องการ license เป็นหลัก

Handspring ซุ่มพัฒนาเครื่องโดยออกข่าวว่าจะออกเครื่องด้านการศึกษา โดยเครื่องใหม่ Hawkins “ซ่อน” feature สำคัญไว้ คือ มีพอร์ตสำหรับเสียบ module เพิ่มได้ เช่น โทรศัพท์มือถือ โดยสร้างระบบซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งตัวเองเมื่อเสียบ module เตรียมสู้กับ Palm ในอนาคต เพราะตอนนั้นยังไม่มีกำลังมากพอที่จะทำเครื่องที่มี wireless ในตัวมาสู้ได้

Handspring เปิดตัวเครื่อง VIsor ในเดือนกันยายน 1999 ชื่อ “Visor” เป็นชื่อลูกสาวของ Hawkins (ย่อมาจาก advisor เจ้าหนูนี่คงออกความคิดไว้เยอะ) ก่อนหน้าวันเปิดตัว 1 วัน Palm ชิงแถลงข่าว IPO บริษัทตัดหน้าชิงพื้นที่ข่าว แต่กลายเป็นว่าทำให้ Visor ได้รับความสนใจมากขึ้น

Handspring เริ่มขาย VIsor ในเดือนกันยายนโดยเปิด preorder บนเว็บ แต่ด้วยเทคโนโลยีเว็บในตอนนั้นทำให้เกิดหายนะ ระบบสั่งของรวนขนาดหนัก ลูกค้าบางคนได้แต่แท่นชาร์จ บางคนได้เครื่องหลายเครื่อง ผิดพลาดระดับวินาศสันตะโร

แต่สุดท้าย Handspring ก็เอาตัวรอดมาได้ เครื่องขายดีและได้ส่วนแบ่งตลาด PDA ถึง 28% ในปีต่อมา และเข้า IPO ได้สำเร็จงดงาม หุ้นแพงกว่าตอนที่ Palm IPO ในปีก่อนหน้ามาก ทั้งๆที่ตอนนั้น Handspring ยังขาดทุนเละเทะ ได้เงินจากตลาดหุ้นมาก็เริ่มพัฒนา module โทรศัพท์ที่ Hawkins เตรียมการไว้ รวมทั้งเวอร์ชั่นที่เป็นโทรศัพท์+PDA ทั้งตัวด้วย

VIsorPhone เป็น โทรศัพท์+PDA ที่เปิดตลาดให้พัฒนาสู่ตลาด Smartphone แม้ประสบความสำเร็จแต่คู่แข่งที่กำลังเข้ามาล้วนแล้วแต่เป็นคู่แข่งขนาดยักษ์ทั้งสิ้น…. พรุ่งนี้มาเล่าต่อ ถึงตอนศึกสมาร์ทโฟนยุคแรกที่ทำให้ Handspring และ Palm ต้องคลานกลับมารวมกันเพื่อสู้ศึก