เรื่องในวงการไอทีที่เล่า ล้วนเป็นเรื่องที่น่าสนใจทั้งในด้านเทคโนโลยี, แนวคิดของผู้พัฒนา และกรณีศึกษาทางธุรกิจ วันนี้จะมาเล่าถึง Lotus 1-2-3 ซึ่งเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจมาก
ในทศวรรษที่ 70-80 spreadsheet เป็นซอฟต์แวร์ที่สำคัญมากสำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เป็นเหตุผลแรกๆที่ทำให้คนซื้อคอมพิวเตอร์เลยทีเดียวตามที่เล่าไปแล้ว
Lotus 1-2-3 เริ่มต้นเขียนโดยโปรแกรมเมอร์คนดัง Jonathan Sachs เมื่อ Mitch Kapor ออกจาก VisiCorp ก็ไปตั้ง Lotus Software เอามาพัฒนาต่อและทำการตลาด โดยออกขายในเดือนมกราคม 1983 ตั้งราคาที่ 495 เหรียญ
ชื่อ 1-2-3 แปลว่ามีโปรแกรม 3 ตัวในตัวเดียว คือ spreadsheet, database และ โปรแกรมสร้างกราฟ
ตอนนั้นในตลาดมี spreadsheet 18 ตัว รวมทั้งเจ้าตลาดคือ VIsiCalc พอ 1-2-3 ออกตลาด ทุกตัวก็ถึงจุดจบ ยอดขายร่วงระเนระนาด
บทความของ Gregg Williams บอกว่า 1-2-3 คือการปฎิวัติของวงการซอฟต์แวร์ ในขณะที่นิตยสาร PC World ก็ยกย่องว่าเป็น “State of the art” ของวงการซอฟต์แวร์
1-2-3 มีลักษณะการทำงานคล้าย VisiCalc มาก ทั้งการอ้างอิง cell แบบ “A1” และคำสั่งที่กด / ก่อน แต่ทำงานเร็วกว่ามาก เขียนด้วย Assembly ทั้งตัว เขียนหน้าจอตรงๆบน hardware video buffer เลย ไม่ผ่าน DOS หรือ BIOS ทำให้เร็วกว่าโปรแกรมอื่นในตลาดมาก แถมยังใช้ memory แบบ “Expanded Memory” ทำให้ใช้ memory ได้มากกว่าตัวอื่น
เนื่องจากโปรแกรมอิงฮาร์ดแวร์มาก และในตอนนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์ไต้หวัน ออกมาแข่งกับ IBM เยอะแยะไปหมด ทุกคนเลยใช้ Lotus 1-2-3 ในการทดสอบเครื่องว่า compatible กับ IBM PC หรือไม่ กลายเป็น standard ของเครื่องว่าต้อง “1-2-3 Compatible”
ในส่วนการทดสอบกราฟฟิก ตอนนั้นใช้ Microsoft Flight Simulator ทดสอบในทำนองเดียวกัน
1-2-3 ประสบความสำเร็จมหาศาล ครองตลาด spredsheet แทบทั้งหมดเป็นเวลากว่า 10 ปี เป็น Killer App ของ IBM PC และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนซื้อคอมพิวเตอร์ในเวลานั้น
ในเวอร์ชั่นแรกๆ ใช้การป้องกันการ copy ด้วย diskette แม้ลงโปรแกรมใน Hard disk แล้ว เวลาเปิดใช้ก็ต้องใส่ diskette เพื่อเช็คก่อนรันทุกครั้ง ในภายหลังเปลี่ยนเป็นให้ลงทะเบียนลงใน diskette ก่อนจึงจะติดตั้งได้ เพื่อให้คนไม่ copy ให้คนอื่น
โปรแกรมที่ใช้ในออฟฟิสตอนนั้นมี 3 ตัวที่นิยมมากคือ 1-2-3, dBase และ WordPerfect
พอดังก็มีคนแข่ง เช่น The Twin และ VP-Planner ที่ออกโปรแกรมที่คล้ายคลึงกันออกมา Lotus ฟ้องบริษัทเหล่านี้ว่าละเมิดลิขสิทธิ์ โดยอ้างว่าการทำโปรแกรม “look and feel” หรือทำงานคล้ายคลึงกันนั้นครอบคลุมด้วยกฎหมายลิขสิทธิ์ จึงไร้คู่แข่งในตลาด
ต่อมา Borland ลองของด้วยการออก Quattro Pro ออกมาสู้ และไปสู้กันในศาลยาวนานถึง 6 ปี จบด้วยศาลสูงตัดสินว่า เมนู และคำสั่ง เป็น “method of operation” ไม่ครอบคลุมด้วยกฎหมายลิขสิทธิ์ จึงสิ้นสุดความอึมครึมของการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ต้องตีความมากมาย
พอ Windows 3.0 ออกตลาด Lotus มัวแต่ลีลา อัพเดทไม่ทัน Excel ใช้ความสามารถของเครื่องได้ไม่เท่า Excel จึงสูญเสียตลาดไป เรียกว่ากรรมตามสนองเลยทีเดียว
Lotus Software ถูกซื้อโดย IBM ในปี 1995… เป็นอันจบตำนาน Lotus 1-2-3