BBK Electronics

วันนี้จะเล่าให้ฟังเรื่องของบริษัท BBK Electronics เป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือ 5 แบรนด์ชั้นนำของจีนคือ Oppo, Vivo, OnePlus, Realme และ Iqoo

ช่วงนี้กำลังหัดเขียน Flutter เลยงัดเอา Android Phone มาทดสอบ โทรศัพท์ที่ผมชอบที่สุดในการใช้พัฒนาคือ OnePlus เพราะเป็นมิตรกับนักพัฒนามาก ชอบกว่า Pixel ของ Google ซะอีก พอจับ OnePlus ก็เลยนึกได้ว่ายังไม่เคยเขียนถึง BBK เจ้าของแบรนด์นี้ที่กลุ่มนี้ เลยมาเล่าให้ฟัง

ในบ้านเรา Oppo และ Vivo เป็นที่รู้จักกันดี เพราะแข่งกันหนัก เคยมีเรื่องกันขนาดพนักงานยกพวกตีกันจนเป็นข่าว แต่จริงๆแล้วสองแบรนด์นี้มาจากโรงงานเดียวกัน เจ้าของเดียวกัน คือ BBK Electronics

บริษัทนี้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เจ้าของเป็นมหาเศรษฐีชาวจีนชื่อ Duan Yongping ซึ่งไม่ค่อยเป็นข่าว ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์ และไม่มีอีเวนท์ที่ CEO ขึ้นเวทีแบบหัวเหว่ยหรือเสี่ยวมี่ให้เห็น

Duan มีอาชีพเป็นครูมาก่อน เหมือนอีตาแจ๊ค หม่า โดยลาออกมาทำงานกับบริษัทผลิตเครื่องเล่นเกมเลียนแบบ NES ชื่อ Zhongshan Yihua Group แล้วลาออกมาในปี 1995 ตั้งบริษัท BBK Electronics โดย Duan ถือหุ้น 70%

บริษัท BBK ทำผลิตภัณฑ์ 3 อย่างคือ อุปกรณ์อิเล็คโทรนิกส์ทางการศึกษา, เครื่องเสียง และ อุปกรณ์สื่อสาร โดยบริหารแยกออกจากกันเด็ดขาดเป็น 3 แผนก จากนั้นก็แยกออกเป็น 3 บริษัทลูกในปี 1999 เพื่อให้หัวหน้าของแต่ละส่วนขึ้นมาบริหาร ยอมลดสัดส่วนหุ้นตัวเองลงเหลือ 17%

บริษัทที่แยกออกมาในภายหลังได้กลายเป็น OPPO ในปี 2004 บริหารโดย Chen Mingyong, Vivo ในปี 2009 บริหารโดย Shen Wei

ส่วน BBK เองก็แยกอีกสามบริษัทคือ OnePlus, Realme และ ล่าสุดคือ iQOO

ตอนที่ OPPO เกิดขึ้นในปี 2004 สินค้าหลักคือเครื่องเล่น MP3 และเครื่องเล่น DVD, Blue-ray รวมทั้งเครื่องเสียงอื่นๆ ตลอดจนหูฟัง เป็นสินค้าระดับไฮเอนด์ที่มีชื่อเสียงและขายดี มาเปลี่ยนเป็นบริษัทโทรศัพท์ในปี 2008 โดยเริ่มจากฟีเจอร์โฟนก่อน แล้วทำ Smartphone ในปี 2012

OPPO ถูกวางตำแหน่งทางการตลาดในฐานะเป็นผู้นำด้านฟีเจอร์ล้ำๆด้านกล้อง เช่น Ulike 2 เป็นรุ่นแรกที่กล้องหน้าเป็น 5 ล้านพิกเซล, และรุ่น Find 5 เป็นรุ่นแรกที่ใช้จอ Full HD, N1 เป็นรุ่นแรกที่ใช้กล้อง 13MP และหมุนได้ เป็นต้น

OPPO ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในจีน เลิกทำเครื่องเสียง หันมาทำโทรศัพท์อย่างเดียวในปี 2018 เป็นบริษัทมือถืออันดับ 5 ของโลก ขายดีในจีนและอินเดีย

ส่วน VIvo ถูกวางให้เป็นเหมือน R&D ของกลุ่มอะไรล้ำๆ จะอยู่ที่แบรนด์นี้ โดยเน้นด้านการออกแบบ และระบบเสียงที่ดีเยี่ยม รุ่น X1 ออกในปี 2012 มีชิพ Hi-Fi โดยเฉพาะ, V5 Max ออกแบบให้บางเฉียบ เป็นต้น

Vivo เป็นโทรศัพท์เจ้าแรกที่ใส่ RAM มา 6 GB, เป็นเจ้าแรกที่มี Finger print sensor, ขอบบางสุด, เครื่องชาร์จ 60W เจ้าแรก Vivo ทุ่มการวิจัยพัฒนาในเรื่องล้ำๆและใส่งบการตลาดหนักมาก ขายไปทั่วโลกกว่า 100 ประเทศ

แบรนด์ OnePlus มีจุดยืนที่ตั้งใจทำตลาดโลกในประเทศตะวันตก เป็นแบรนด์แรกของกลุ่มที่วางขายในสหรัฐอเมริกา เป็นแบรนด์เดียวในกลุ่มที่ได้รับการยอมรับในโลกตะวันตก แต่เป็นแบรนด์เล็ก

CEO ของ OnePlus คือ Pete Lau เดิมเป็นรองประธาน OPPO มาก่อน OnePlus One รุ่นแรก ดัดแปลงมาจาก OPPO Find 7a และใช้โรงงานของ OPPO ผลิต รุ่น OnePlus 5 แทบจะเป็นฝาแฝดกับ OPPO R11, One Plus 8 Pro ก็คล้ายๆกับ Find X2 Pro

OnePlus เน้นด้านการทำงานของซอฟต์แวร์เป็นหลัก ประสิทธิภาพการทำงานดีเยี่ยม OxygenOS ของ OnePlus นับเป็น Android ที่ยอดเยี่ยม เป็นที่นิยมของนักพัฒนาทั่วโลก

ด้วยการที่เป็นแบรนด์เดียวที่ขายในสหรัฐและยุโรปแพร่หลาย ทำให้ OnePlus เป็นความหวังหนึ่งเดียวที่จะเหลืออยู่ตอนที่จีนทะเลาะกับรัฐบาลของ ปธน.ทรัมป์

แบรนด์ Realme เน้นเป็นแบรนด์ราคาย่อมเยา ออกมาเพื่อสู้กับเสี่ยวมี่โดยเฉพาะ ออกตลาด 27 รุ่นรวดในสองปี สู้ยิบตาในตลาดอินเดียซึ่งเป็นสมรภูมิที่โหดสุดในโลกของโทรศัพท์ อัดราคาสู้เสี่ยวมี่แบบไม่ยั้ง รวมทั้งออกแบบให้คลับคล้ายคลับคลาด้วย จนคนนึกว่าเป็นบริษัทลูกของเสี่ยวมี่

แบรนด์สุดท้าคือ iQOO ถูกวางตำแหน่งให้ลุยเทคโนโลยี 5G โดยเฉพาะ เน้นตลาดสูงในอินเดียด้วยฟีเจอร์ 5G

ทั้งหมด 5 แบรนด์ อยู่ภายใต้บริษัทแม่บริษัทเดียวคือ BBK Electronics โดยวาง position ทางการตลาดแตกต่างกัน และแข่งกันอย่างดุเดือดในตลาด เป็น marketing strategy ที่น่าสนใจไม่น้อย