อนาคตของ AI กับงานศิลปะ

เทคโนโลยีสร้างรูปภาพจากข้อความ (Text-to-Image Technology) ส่วนใหญ่เริ่มต้นพัฒนาขึ้นในช่วงทศวรรษ 2010s ที่ผ่านมา โดยใช้เทคนิค deep neural network

ในปี 2022 นี้เราเริ่มเห็นเทคโนโลยีเหล่านี้ทะยอยออกมาสู่สาธารณะ และได้แสดงศักยภาพของเทคโนโลยีแขนงนี้ให้เราเห็นได้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งมีหลากหลายตัว เช่น DALL-E 2, Imagen, Stable Diffusion, Midjourny เป็นต้น

โปรแกรมเหล่านี้ได้พัฒนามาจนถึงระดับที่ทำให้คนทั่วไปสามารถสร้างสรรค์ภาพที่สมจริงและซับซ้อนได้อย่างง่ายดายด้วยการพิมพ์ข้อความลงในระบบเท่านั้น

ความแพร่หลายของเทคโนโลยีนี้เพียงช่วงระยะเวลาอันสั้น ได้ก่อให้เกิดผลกระทบขึ้นมากมายต่อหลากหลายวงการ หนึ่งในนั้นคือวงการศิลปะครับ

ในงานประกวดศิลปะประจำปีที่จัดขึ้นในงานฉลองของรัฐโคโลราโด (Colorado State Fair’s annual art competiton) ผู้ประกวดที่ชื่อว่า Json M. Allen ชายอายุ 39 จากเมือง Pueblo West รัฐโคโลราโด ได้ส่งภาพ “Théâtre D’opéra Spatial” ที่สร้างขึ้นจากโปรแกรม text-to-image ที่ชื่อ Midjourney เข้าประกวด และได้รับรางวัล Blue Ribbon จากการประกวดในครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นผลงานจากปัญญาประดิษฐ์ชิ้นแรกที่ได้รับรางวัลจากงานประกวดศิลปะ

ภาพ Théâtre D’opéra Spatial

ผลของชัยชนะในการประกวดในครั้งนี้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงกันอย่างดุเดือดในวงการศิลปะ และได้มีการ
กล่าวหาว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการโกงการประกวด

Allen ผู้ส่งเข้าประกวดโต้แย้งข้อกล่าวหาดังกล่าวผ่านหนังสือพิมพ์ New York Times ว่า เขาส่งผลงานเข้าประกวดในนาม “Jason M.Allen via Midjourny” และระบุชัดเจนว่าผลงานของเขาสร้างขึ้นจากปัญญาประดิษฐ์ และส่งเข้าประกวดในประเภท “Digital Art/Digitally manipulated photography” ไม่มีการคัดค้านจากผู้จัดงานประกวดแต่อย่างใด

ชัยชนะในครั้งนี้ทำให้เหล่าบรรดาศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะเกิดความกังวลในอนาคตของวงการศิลปะ ในเมื่อทุกคนสามารถสร้างสรรค์รูปภาพสวยงามระดับงานศิลปะได้ง่ายๆแล้ว ใครจะยอมควักเงินซื้องานศิลปะอีกต่อไป

อีกประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางคือเรื่องนี้ขัดต่อจริยธรรมด้านการสร้างสรรค์งานศิลปะหรือไม่ เพราะมีบางคนตีความว่าเทคโนโลยีนี้ (ซึ่งเรียนรู้จากรูปภาพจำนวนมาก) ก็คือการลอกเลียนแบบชนิดหนึ่งที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงนั่นเอง (high-tech form of plagiarism)

ผู้จัดงานได้ให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า ในการส่งเข้าประกวด Allen ได้แจ้งให้กองประกวดทราบอย่างชัดแจ้งว่าใช้โปรแกรม Midjourney ในการสร้างภาพ และในสาขาที่ส่งเข้าประกวดมีกฎที่อนุญาตให้ผลงานที่ใช้ digital technology ในการสร้างหรือแสดงผลงานได้

อย่างไรก็ดีมีคณะกรรมการสองคนที่ตัดสินผลงานดังกล่าวไม่ทราบว่า Midjourny เป็นโปรแกรมด้านปัญญาประดิษฐ์ แต่เมื่อแจ้งให้ทราบภายหลังการตัดสิน กรรมการทั้งสองก็กล่าวว่าแม้ว่าตอนที่ตัดสินทราบว่าเป็น AI ทั้งสองก็ยังคงตัดสินเช่นเดิม

เรื่องการโต้เถียงในทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในตอนที่มีการประดิษฐ์กล้องถ่ายรูป ศิลปินในศตวรรษที่ 19 ถึงกับเรียกกล้องถ่ายรูปว่า “ศัตรูตัวฉกาจของวงการศิลปะ” (Art’s most mortal enemy) และในศตวรรษที่ 20 ก็เกิดเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันกับการใช้คอมพิวเตร์ช่วยในงานดีไซน์ ที่กล่าวว่าการใช้คอมพิวเตอร์สร้างสรรค์งานเป็นการทำงานศิลปะที่ไม่ได้ใช้ความสามารถของศิลปิน

เรื่องนี้มีความแตกต่างอยู่ในแง่ที่ DALL-E 2 หรือ Midjourney นั้นทำงานโดยการดึงเอาภาพในอินเตอร์เน็ตจำนวนมหาศาลไปสอนอัลกอริทึมให้จดจำลักษณะของ pattern และความสัมพันธ์ขององค์ประกอบของภาพในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง แล้วใช้ข้อมูลดังกล่าวในการสร้างภาพจากข้อความ ซึ่งแน่นอนว่าภาพส่วนหนึ่งที่ใช้สอนนั้น เป็นภาพที่เป็นผลงานของศิลปินบางคน

บรรดาศิลปินจึงมองว่าโปรแกรมเหล่านี้เป็นปฎิปักษ์ต่อวงการศิลปะ เพราะสร้างงานจากผลงานของศิลปินอื่น

Allen ได้ให้สัมภาษณ์ที่เหมือนราดน้ำมันลงไปในกองไฟว่า “จะไม่มีการขอโทษใดๆจากผม ผมชนะการประกวดโดยไม่ได้ทำอะไรผิดกฎ ไม่มีใครหยุดยั้งเทคโนโลยีนี้ได้ ศิลปะตายแล้ว และ AI เป็นผู้ชนะ มนุษย์พ่ายแพ้แล้ว”

ป.ล. ใครที่อยากรู้ว่า Allen สร้างภาพนี้ด้วย Prompt ว่าอะไร ในการสร้างภาพดังกล่าว Allen ไม่ได้เปิดเผยข้อความ (Prompt) ที่ใช้สร้างภาพ แต่บอกใบ้ว่า “Space Opera Theater”