เคยเล่าในตอนที่ 39 เรื่อง Windows CE ไปแล้วว่า ผมทำโปรแกรม KeyMapPro ซึ่งเป็นโปรแกรมคีย์บอร์ดสำหรับ HPC ใช้กับภาษาต่างๆในยุโรป และได้มีโอกาสขาย bundle โปรแกรมไปกับเครื่อง HPC หลายยี่ห้อในหลายประเทศ จึงเกิดความคิดว่าจะทำโปรแกรมใน Windows CE เป็นอาชีพจริงจัง
แรกๆ ก็ดีครับ โปรแกรมขายได้ดี แต่เนื่องจากลูกค้า HPC ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่ใช้ในทางธุรกิจ โปรแกรมที่ขายเลยจัดเป็นโปรแกรมทางธุรกิจ และสมัยนั้น Internet ไม่เฟื่องฟู เวลาลูกค้าติดปัญหาการใช้งาน ก็จะใช้วิธีโทรมาหาจากต่างประเทศ ฝรั่งไม่ค่อยเข้าใจว่าการโทรทางไกลข้ามประเทศตอนนั้นมันคือค่าใช้จ่ายมหาศาล และไม่เข้าใจว่าไอ้คนที่รับโทรศัพท์ (ซึ่งคือผม) อยู่ในประเทศที่กำลังนอนหลับอยู่ และไม่เข้าใจภาษายุโรปต่างๆ แถมปัญหาที่ถามคือโปรแกรมอื่นๆ ไม่ใช่ปัญหาของคีย์บอร์ด
ตอนนั้นคิดว่าหายนะแน่ เลยคิดว่าควรจะเปลี่ยนไปทำโปรแกรมที่ไม่ต้อง support ซึ่งก็คือเกม ก็เลยเริ่มทำเกม ตั้งเป็นบริษัทเล็กๆชื่อ Jimmy Software ทำเกมใน Windows CE ได้น้องๆระดับเทพมาร่วมงานหลายคน
น้องๆมี passion กันมากเรื่องทำเกม ในทีมมีทั้ง Game Designer, Coder, Graphics, และนักดนตรีมาแต่งเพลงประกอบ มีทีม tester เป็นเรื่องเป็นราว เกมของ Jimmy Software ไต่ขึ้นไปได้รับความนิยมมาก เริ่ม hack เครื่อง เพื่อ overclock และ ทำ direct screen access เพื่อ bypass OS ลงไปเขียน hardware โดยตรง รวมทั้ง modulate เสียงดนตรีเอง เกมเร็วกว่าเจ้าอื่น เคยขึ้น 6 อันดับแรกใน 10 อันดับบนเว็บขายโปรแกรม Pocket PC ในสหรัฐ
ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดคือเกมชื่อ Turjah ได้รางวัล Best Software Award จากนิตยสาร Pocket PC ทั้งเล่ม US และยุโรป และผู้ใช้ก็โหวดให้เป็นโปรแกรม best favorite award ในปีเดียวกันทั้งสองภูมิภาค
ในปี 2000 Chris Anderson อดีตบรรณาธิการใหญ่ของนิตยสาร Wired คนแต่งหนังสือ The Long Tail ก็บินมาหา ตอนนั้น Chris ยังทำงานอยู่ The Economist มาชวนตั้งบริษัททำเกมกัน เป็นครั้งแรกที่ได้สัมผัสคนดังในต่างประเทศ
ช่วงนั้น high profile มาก ไมโครซอฟต์จะออกโทรศัพท์มือถือ เปิดตัวในลอนดอน ถึงกับโทรมาให้ออกเกมเพื่อไปออกงานเปิดตัว
ตอนนั้นมีบุรุษพยาบาลคนนึงในฟินแลนด์ เขียน 3D Game Engine ตัวแรกใน Pocket PC ขึ้นมา ชื่อ Diesel Engine ก็หาญกล้าไปซื้อซอร์สโค๊ดมาในราคา 88,000 เหรียญ หลายล้านบาทอยู่ และออกเกม 3D ตัวแรก แต่แป๊ก เพราะดันตั้งชื่อว่า Ranger แต่ตัวพระเอกดันเป็นป้อมปืนเดินไม่ได้ ฝรั่งด่าเละ แต่ก็เอาตัวรอดมาได้ (ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรงเอามากในตอนนั้น)
ทีมงานขยายไปมีทีมพัฒนาอีกทีมที่สเปน ได้แฮ็กเกอร์ระดับโลกมาร่วมงานทำโปรแกรม Landscape ออกมา เป็นโปรแกรมที่ hack ให้ Pocket PC พลิกหน้าจอได้ hack ทุกอย่างที่ขวางหน้า สมัยนั้นเครื่องไม่มี accelerator แต่บางรุ่นมี IR port ก็ใช้ IR port เดาเอาว่ามือบังแบบนี้ user น่าจะถือเครื่องแบบไหน โปรแกรมขายดีมาก
แล้วก็เข้าสู่ยุค J2ME ก็ทำเกมเป็นโหลๆ ไป bundle กับเครื่องโทรศัพท์หลายยี่ห้อ พอรุ่งก็เริ่มคิดการณ์ใหญ่
ตั้งบริษัท Ching Mai Digital Works และ ตั้งอีกสองบริษัทในฮ่องกง และไต้หวัน (Hong Kong Digital Works และ Taipei Digital Works) กะทำเกมให้ cover โทรศัพท์ให้จริงจัง
เมืองไทยตั้ง SIPA Software Industry Promotion Agency ขึ้น หมอเลี๊ยบตั้งเป็นกรรมการชุดแรกก็รับไปเป็น โลกถล่มอีตอนที่รับไปแล้ว และเค้าบอกว่าเป็นกรรมการบริษัทไม่ได้ ต้องลาออกจากการเป็น CEO ไปรับใช้ชาติแทน และบริษัทที่ลงทุนไป 40 ล้านก็ล้มหายไปจากวงการในที่สุด ทิ้งความทรงจำที่ผสมปนเปกันจนไม่รู้ว่ารู้สึกยังไง
การขึ้นลงของบริษัทหนึ่งๆ จะบอกว่ามาจากสาเหตุอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งก็คงไม่ได้ มันมีองค์ประกอบมากมาย สิ่งหนึ่งที่ต้องบอกตัวเองคือ อะไรที่ผ่านไปก็ผ่านไป เริ่มต้นใหม่ได้เสมอ
อีกหลายปีต่อมา SIPA ก็กลายเป็น Depa คืนนี้จะไปคุยต่อ ว่าตอนนี้เป็นยังไงบ้าง….