ในช่วงต้นทศวรรษที่ 80s มีบริษัทเล็กๆชื่อ GRiD Systems พัฒนาผลิตภัณฑ์ชื่อ PalmPrint ออกมา เป็นระบบรู้จำลายมือ (handwriting recognition) ที่โดดเด่นในเรื่องความถูกต้อง คิดขึ้นโดย Jeff Hawkins ผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องกระบวนการทำงานของสมองในการรู้จำตัวอักษร
Tandy Corp บริษัทลูกของ Radio Shack เข้าซื้อ GRiD ในปี 1988 และออกตลาด GRiDpads ในปีถัดมา เป็น Pen Computer ขนาด 9 x 12 นิ้ว หนาราวๆนิ้วครึ่ง หนักสองกิโลกว่าๆ เทียบกับสมัยนี้ก็ยักษ์แหละครับ แต่ตอนนั้นถือว่า “คล่องตัวมาก” จึงประสบความสำเร็จไม่น้อย ส่วนหนึ่งมาจากการใช้งาน PalmPrint ที่ยอดเยี่ยมของ Hawkins
Jeff Hawkins จึงออกแบบเครื่องรุ่นต่อไป ชื่อว่า Zoomer เป็น Pen Computer ขนาดเล็กลง (4.2 x 6.8 นิ้ว หนา 1 นิ้ว หนักครึ่งกิโล) เล็กและเบากว่า GRiDpad มาก concept ของเครื่องคือ PIM เหมือน Newton และมีโปรแกรมที่เลียนแบบสมุดบันทึก DayPlanner ที่นักธุรกิจในขณะนั้นส่วนใหญ่คุ้นเคยดี สามารถ sync ข้อมูลกับคอมพิวเตอร์ได้
ออกแบบเสร็จก็ไปขอเจ้านาย (Tandy) ให้ผลิต แต่ Tandy เน้นผลิตภัณฑ์สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ Zoomer เป็นเพียงผลิตภัณฑ์เล็กๆ ดูท่าแล้วคงไม่ได้เรื่อง Jeff Hawkins เลยตัดสินใจลาออกไปเปิดบริษัทใหม่ ชื่อ Palm Computing ปรากฎว่า John Roach ซึ่งเป็น CEO ของ Tandy เห็นศักยภาพจึงเข้ามาร่วมทุน และ Casio ซึ่งทำ OEM ให้ Tandy ก็เข้ามาร่วมเป็นโรงงานผลิตให้ โดยแลกกับการได้สิทธิ์เอา Zoomer ที่พัฒนาเสร็จไปขายในนามของ Tandy และ Casio
Plam นอกจากมีคนทำ hardware ให้เแล้ว Palm ก็แพลนว่าจะไม่ทำ OS เอง แต่ใช้ GeoWorks ของ GEOS โดย Palm จะทุ่มเทไปที่การพัฒนาซอฟต์แวร์ PIM และระบบรู้จำลายมือเป็นหลัก
ในขณะเดียวกันก็ระดมทุนจาก VC และรับมือดีมาอีกสองคนคือ Art Lamb และ Ain McKendrick โลกในตอนนั้นสดใสมากสำหรับ Palm สตาร์ทอัพของ Jeff Hawkins
แต่ในชีวิตจริงไม่ง่าย GeoWorks ไม่ยอมออกเวอร์ชั่นสำหรับ Zoomer ของ Palm ซักที ในขณะที่ Casio ก็คาดหวังสูงมาก วางสเป็กของเครื่องไว้เกินกว่าที่จะทำสำเร็จได้ง่ายๆ การพัฒนาจึงเต็มไปด้วยปัญหา
Apple กำลังจะออก Newton และไปซื้อระบบรู้จำลายมือจากบริษัทซอฟต์แวร์รัสเซียชื่อ ParaGraph ระบบรู้จำลายมือของ ParaGraph มีความสามารถเรียนรู้ลายมือของผู้ใช้ ยิ่งใช้มาก ยิ่งถูกต้องมากขึ้น เลยกลายเป็นแรงกดดันต่อการพัฒนา zoomer ขึ้นไปอีก
งานเปิดตัว Newton ของ Apple โดย John Sculley ในปี 1992 นั้นยิ่งใหญ่มาก มีคนเปรียบเปรยว่าเป็น Rock Concert มากกว่างานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ เพิ่มความกดดันให้ Palm เข้าไปอีก
Newton และ Zoomer ออกตลาดในเวลาไล่เลี่ยกัน Apple ทุ่มเทการตลาดเต็มที่ด้วยงบมหาศาล ประกอบกับระบบของ Apple Newton (Newton Intelligence) เป็น Object oriented OS มี relational database และเก็บข้อมูลไว้ในเครื่อง หรูหราอลังการณ์มาก ในขณะที่ Zoomer ไม่มีอะไรเป็นจุดเด่น Apple ขาย Newton ได้ 80,000 เครื่อง ในขณะที่ Tandy กับ Casio ขายได้แค่ 20,000 เครื่อง
เพื่อรักษาบริษัทให้รอด Palm เปลียนแผนจากการผลิตเครื่องไปช่วย GeoWorks ทำ software สำหรับ PDA ยี่ห้ออื่น เช่น Sharp, HP และ Novell และทำซอฟต์แวร์ใหม่คือ PalmConnect สำหรับ sync ข้อมูลกับ PC
Ron Marianetti คิดกลยุทธ์ทางซอฟต์แวร์ใหม่เพื่อสู้กับ Newton แทนที่จะพัฒนาระบบรู้จำลายมือแบบ intelligence ก็ทำรูปแบบการเขียนตัวอักษรให้เป็นสัญญลักษณ์ง่ายๆให้คนเขียนตาม Ron บอกว่า ทำให้ซอฟต์แวร์เรียนรู้ปรับตัวให้เข้ากับคนมันยากไป สู้สอนคนให้ปรับตัวให้เข้ากับซอฟต์แวร์ไม่ได้ ง่ายกว่าเยอะ ออกระบบรู้จำลายมือใหม่ชื่อ Graffiti
Graffiti ออกมาในเครื่อง HP OminGo ก่อน พอดี Newton เปิด API ให้ระบบรู้จำลายมือของเจ้าอื่นได้ Palm เลยทำ Graffiti ลงเครื่อง Newton ถือหลักที่ว่า ถ้าสู้ยักษ์ไม่ได้ ก็หาทางไปยืนบนบ่ายักษ์ ปรากฎว่าขายถล่มทลาย ได้เงินมา 1.3 ล้านเหรียญ พลิกฟื้นบริษัทสำเร็จ
Ron วิเคราะห์ PDA อย่างละเอียด เขียนคู่มือชื่อ “The Zen of Palm” ขึ้นมา ลงรายละเอียดว่า UI/UX ที่ดีของ PDA ว่าต้องเป็นอย่างไร โดยเทียบกับการใช้สมุดบันทึกกระดาษมาเปรียบเทียบ หาทางออกแบบให้ผู้ใช้กดหน้าจอให้น้อยที่สุด ทำโครงการใหม่ชื่อ “TouchDown”
Palm ตกลงใจทำโครงการนี้ แต่ประเมินว่าต้องใช้เงินถึง 5 ล้านเหรียญ ในขณะที่บริษัทมีเงินสดในมือแค่ 3 ล้านเหรียญจึงประกาศหาผู้ร่วมทุน เจรจาล้มเหลวไปหลายเจ้า เพราะไม่มีแม้แต่เครื่องต้นแบบ การพรีเซ้นท์ใช้แค่คู่มือ Zen of Palm กับโมเดลที่ทำด้วยไม้บาลซ่า
แต่ในที่สุด USRobotics ก็มองเห็นศักยภาพของ Palm เข้ามาเทคโอเวอร์ในปี 1995 ในปีต่อมา Palm ก็ออก “PalmPilot” ตัวแรกออกมาในเดือน มีนาคม 1996
พรุ่งนี้จะมาเล่าถึง PalmPilot ในฐานะตำนานแห่ง PDA ที่แท้จริง