ระบบภาษาไทยใน MS DOS

วันนี้จะเล่าเรื่องตอนผมหัดเล่นคอมพิวเตอร์ เผื่อเป็นประโยชน์หรือแรงบันดาลใจให้น้องๆได้บ้าง มีหลายเรื่องที่อยากแชร์เพราะผมโชคดีมีคนชี้แนะที่ยอดเยี่ยม

ผมเริ่มหัดเล่นคอมพิวเตอร์ตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ปีที่ 2 คุณพ่อผมเป็นอาจารย์แพทย์ นั่งฟังพ่อเลคเชอร์อยู่ แต่อ่านหนังสือคอมพิวเตอร์ไป แล้วเจอว่าในเชียงใหม่มีร้านคอมพิวเตอร์มาเปิดใหม่ ก็ออกหลังห้องไปเลย ผลคือได้ Sinclar ZX-81 กลับมาตัวนึง นั่งเล่นอยู่ที่บ้าน พ่อก็กลับมาตอนเย็น ถามยิ้มๆว่า “ไง เล็คเชอร์สนุกมั้ย…”

หลังจากนั้นก็แทบไม่เป็นอันเรียน ไปหมกอยู่ร้านคอมพิวเตอร์ทั้งวัน เจ้าของร้านเป็นนักเรียนอังกฤษกลับมาหมาดๆ (พี่ตู่ สุรจิต พัฒโนดม) หอบหนังสือแม็กกาซีนภาษาอังกฤษมาเพียบ วันๆผมก็เอาแต่คีย์โปรแกรมภาษาเบสิกในหนังสือ กับเล่น Apple ][ ของที่ร้าน คีย์โปรแกรมแล้วก็เอาไปขายให้ลูกค้า พอได้เงินค่าขนม ส่วนใหญ่เป็นโปรแกรมเกมภาษาเบสิก

ที่เชียงใหม่ในตอนนั้นมีฝรั่งมาก ส่วนใหญ่เป็นคนสอนศาสนา (มิชชั่นนารี่) แต่เล่นคอมพิวเตอร์กันมาก มักจะแวะเวียนมาคุยกับพี่ตู่ที่ร้าน เห็นผมเป็นเด็กนั่งคีย์แต่ภาษาเบสิก คงรำคาญ เลยเอาหนังสือ Assembly 6502 กับ source code Apple Basic มาให้ บอกผมด้วยประโยคที่ไม่เคยลืม “ไม่คิดทำอะไรที่ยากๆมั่งเหรอ มีอะไรให้ทำได้อีกเยอะ”

ผมหัด Assembly Language ตั้งแต่นั้นมา แล้วก็หลงไหล เพราะได้รู้ทั้งเรื่องโปรแกรมมิ่ง เรื่องฮาร์ดแวร์ และ BIOS, DOS แทบทุกอย่าง

สิ่งที่คิดทำสิ่งแรกคือ “ระบบภาษาไทย” ผม hack BIOS Apple ][. ทำระบบภาษาไทยด้วยกราฟฟิกล้วนๆ hook BIOS ให้โปรแกรมต่างๆวิ่งภาษาไทยได้ แล้วก็ลงกรุงเทพไปขาย ได้เงินมาหลักหมื่น ตอนนั้นเริ่มรู้แล้วว่าตัวเองจะไปทางไหน

พอขึ้นปีสาม เห็น เวิร์ดราชวิถี ของ อ.ชุษณะ ก็คิดอยากทำบ้าง เลยเขียน Word Processiong ทั้งตัวด้วย Assembly Language ทั้งโลกนี้มีคนใช้แค่สองคน คือคุณพ่อผม กับคุณลุงหมอจีรศักดิ์ คำบุญเรือง เพื่อนของพ่อ ใช้พิมพ์เอกสารการสอน คุณพ่อแม้อยากให้ผมเป็นหมออย่างที่สุด แต่ท่านก็ทำทุกออย่างที่จะให้ผมไปต่อในทางที่ผมรักได้สำเร็จ

ขึ้นปีสี่ IBM PC มา ที่บ้านซื้อให้เครื่องนึง จอเป็น CGA ซึ่งเป็นจอสี นั่งดูวันแรกก็แกะวงจรของการ์ด ซึ่ง display ได้ 80 คอลัมน์ 24 บรรทัด ผมก็ over sync ให้มันแสดงได้ 50 บรรทัด แล้วเขียน ROM ตัวอักษรใหม่ ใส่ภาษาไทยเข้าไป เป็นการทำการ์ดภาษาไทยโดยใช้ software ล้วนๆ แล้วก็เอาไปขายที่ กทม แลก ฮาร์ดดิสก์ 20 MB มาตัวนึง

ตอนนั้นเองที่การ์ด Hercules ที่โด่งดังออกมา การ์ดตัวนี้ดังไปทั่วโลก ทำในอเมริกา แต่คนทำเป็นคนไทย ชื่อ “Van Suwannukul” ผมไม่ทราบว่าชื่อภาษาไทยของท่านเขียนอย่างไร แต่คือฮีโร่ผมเลย เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ของคนไทยคนแรกที่ผมได้ใช้ได้สัมผัส และเป็นผลิตภัณฑ์ระดับโลก คุณ Van ทำการ์ดนี้ขณะเรียนปริญญาเอก และต้องใช้ภาษาไทยในงาน จึงสร้างการ์ดนี้ขึ้นมา และกลายเป็นมาตรฐานของ display card ที่นิยมไปทั่วโลกอยู่นานหลายปี น่าเสียดายที่ผมไม่มีโอกาสได้รู้จักตัวจริง

ผมได้ใช้แค่ Hercules Compatible จากไต้หวัน เชียงใหม่ตอนนั้นยังไงก็เป็นแค่ต่างจังหวัด ยังไม่มีของพวกนี้มากนัก

ได้มาสิ่งแรกที่คิดทำคือภาษาไทย แต่ oversync ไม่สำเร็จ เพราะ RAM มันแยก page กัน เลยนั่งไล่วงจร แล้วก็บัดกรีขา RAM เข้าด้วยกันเอา address 2 ชุดมาต่อกัน แล้วก็ oversync เหมือนเดิม เอา epoxy ราดสายไฟไว้ กลัวความลับรั่วไหล แล้วก็ไปขายที่ กทม

ขึ้นปีห้า ไปฝึกงานที่พิษณุโลก มีพี่คนนึงนั่งรถทัวร์ไปหาที่พิษณุโลก พร้อมเครื่องเลเซอร์พรินเตอร์ บอกว่าอยากทำภาษาไทย (คุณแสวง ตันติราพันธ์) ผมก็เอาคอมพิวเตอร์กับเครื่องพิมพ์ไปไว้ที่ห้องพักแพทย์ และตลอดการฝึกงานของผมก็คือการทำภาษาไทยบนเลเซอร์

คุณแสวง เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท 315 จำกัด บริษัทในเครืออาคเนย์ประกันภัย ขายพิมพ์ดีด IBM กับพวกเครื่องสำนักงานอัตโนมัติ เป็นคนที่เอาวินโดว์สมาให้ผมเล่นคนแรก แล้วบอกว่า “นี่คืออนาคต… ทำภาษาไทยในนี้สิ…” ท้าทายมาก

พรุ่งนี้จะมาเล่าต่อว่า ThaiWin เกิดขึ้นได้ยังไง

สิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้ในช่วงแรกของการเล่นคอมพิวเตอร์ คือ ให้ฟังคำชี้แนะจากผู้คนรอบข้าง ถ้าไม่มีคนบอกให้เรียน Assembly ไม่มีคนสอน ไม่มีคนแนะนำ ชี้แนะ เด็กเชียงใหม่บ้านนอกไม่มีทางได้รู้จักเรื่องพวกนี้ครับ… จงฟังคำชี้แนะจากผู้คน มันมีอะไรดีๆในนั้นเสมอ