เด็กนักศึกษาคนหนึ่ง นั่งฟังอาจารย์เล็คเชอร์อยู่ดีๆ ก็เกิดไอเดียสร้างซอฟต์แวร์ที่มาเปลี่ยนโลก
ในช่วงทศวรรษที่ 70 คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ประสบความสำเร็จในวงกว้างตัวแรกคือ Apple ][ ของ Steve Jobs แต่ก็เป็นเพียงของเล่นฮ็อบบี้ของบรรดา geek เท่านั้น ไม่ได้ใช้ในทางธุรกิจ
ในปี 1978 Dan Bricklin นั่งฟังเลคเชอร์ด้านการเงินที่ Harvard Business School อาจารย์ผู้สอนเขียนตารางด้านการเงินบนกระดาน เพื่อแสดงสูตรคำนวณ เมื่อเปลี่ยนตัวแปร ก็จะลบบางส่วนบนกระดาน แล้วก็เขียนใหม่ แล้วก็ลบอีกส่วนเพื่อเขียนผลลัพธ์ที่ได้ขึ้นใหม่ลงไป
Dan เกิดไอเดียกระฉูดว่าสามารถทำเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับใช้เป็นตารางคำนวณอัตโนมัติได้
สมัยนั้นการเขียนโปรแกรมส่วนใหญ่ยังคิดเป็น sequential อยู่ ทำคำสั่งไปทีละคำสั่งเป็นขั้นเป็นตอน แต่ไอเดียของ Dan นั้น เปลี่ยนค่าของตัวแปรตัวหนึ่ง จะต้องแสดงผลลัพธ์แบบทันทีทันใดในอีกหลายๆส่วนของตาราง ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ของการเขียนโปรแกรม
Dan ได้ Bob Frankston มาช่วยด้านการเขียนโปรแกรม ซึ่งใช้ภาษา Assembly ร่วมกับระบบ Time Sharing จาก Multics ต้นกำเนิดของ UNIX สร้างระบบการทำงานของโปรแกรมที่ล้ำมากในสมัยนั้น
ทั้งคู่ใช้เวลาสองเดือนก็ออกโปรแกรม Spreadsheet ตัวแรกของโลกออกมา ตั้งชื่อว่า VisiCalc (Visible Calculator) และตั้งบริษัทชื่อ Software Arts
สมัยนั้นยังไม่มี AppStore การขายโปรแกรมต้องขายผ่านตัวแทนจำหน่าย จึงไปให้บริษัทชื่อ Personal Software ขายให้ผลคือไม่กี่เดือน โปรแกรมก็ขายกระฉูด กลายเป็น “Killer App” ของ Apple ][ ไป
VisiCalc ขายดีมาก และฉุดให้ Apple ][ ขายดีไปด้วย มีคนจำนวนมากที่ซื้อคอมพิวเตอร์ Apple ไปเพียงเพื่อต้องการจะใช้ VisiCalc เท่านั้น ผลการสำรวจตอนนั้น เหตุผลของการซื้อคอมพิวเตอร์คือต้องการใช้ VisiCalc ถึง 25% รวมทั้งคนที่มีคอมพิวเตอร์ยี่ห้ออื่นอยู่แล้วก็มาซื้ออีกเครื่อง คนยอมซื้อคอมพิวเตอร์ราคา 2,000 เหรียญเพื่อใช้ซอฟต์แวร์ราคา 100 เหรียญ
มีคนเปรียบว่า Visical เป็นหางที่ดึงดูดใจจนสุนัขขายได้ – The tail wags the dog. (หางที่กระดิกหมา ไม่ใช่หมาที่กระดิกหาง)
VisiCalc ขายดีจน Personal Software เปลี่ยนชื่อเป็น VisiCorp และยอมจ่ายส่วนแบ่งให้ Software มากถึง 36-50% เพื่อจะได้ exclusive เทียบกับขายซอฟต์แวร์อื่นผู้เขียนได้ส่วนแบ่งเพียง 8-12% เท่านั้น
VisiCalc ขายดีมาก และได้ port ไปรันในเครื่องอื่นอีกหลายเครื่องโดยรักษา feature เหมือนเดิมทุกประการ ข้อดีคือทำให้ไฟล์ของ VisiCalc แลกเปลี่ยนข้ามเครื่องได้ และการใช้งานเหมือนกันทุกประการ เหมือนแม้กระทั่งบั๊ก จนเกิดคำว่า “Bug Compatibility” ขึ้นมาเรียกการ port แบบนี้
VisiCalc ก่อให้เกิดการนำคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลไปใช้ในทางธุรกิจจริงจังขึ้น ผลักดันให้ Apple เติบโตไปอย่างรวดเร็ว และมีโปรแกรมธุรกิจอื่นๆออกมาอีกมาก และไปกระตุ้นให้ IBM มองเห็นตลาดนี้และออก IBM PC ออกมา ตามที่เล่าไปแล้ว
ช่วง 6 ปีแรก VisiCalc ขายไปได้ 700,000 ชุด และเมื่อ IBM PC ออกมาก็ขายดี ในปีแรกขายไปได้ถึง 300,000 ชุด แต่แล้วหายนะก็มาเยือน
VisiCalc ขึ้นราคาจาก 100 เหรียญเป็น 250 เหรียญ แต่ไม่ได้ปรับปรุงอะไรมากมายนัก กระตุ้นให้เกิดคู่แข่งขึ้นมาหลายตัว เช่น SuperCalc, Multiplan
และในที่สุดในปี 1982 คู่แข่งตัวจริงก็ออกมา Mitch Kapor อดีตพนักงานของ VIsiCorp ออกโปรแกรม Lotus 1-2-3 ออกมา ใช้พลังของ IBM PC เต็มที่ จอใหญ่ Features เพียบ และใช้เมนูคล้ายกับ VisiCalc แต่ดีกว่า ยอดขายของ VisiCalc ลดฮวบไปชั่วข้ามคืน
ในปี 1984 Software Arts ก็ถึงจุดจบ และในปี 1985 Lotus ก็ซื้อ VisiCorp และเรื่องราวของ Killer App ที่ยิ่งใหญ่ก็จบลง
ซอฟต์แวร์เป็นสิ่งที่ต้องขยายปรับปรุงตลอดเวลา เพราะวันหนึ่งคู่แข่งที่ไม่เคยเห็นก็จะปรากฎขึ้นเสมอ…