ตอนที่ Steve Jobs ออกจาก Apple ไม่ได้ราบรื่นเลย มีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น และการบังคับคดีนั้นคือ Apple บีบบังคับให้ NeXT computer ต้องเป็นเครื่องที่ดีกว่า Apple แปลกมั้ยครับ ตามมาครับจะเล่าให้ฟัง
วันที่ 12 กันยายน 1985 หลังจากถูกปลดจากทีม Macintosh และถูกส่งไปอยู่ออฟฟิสว่างเปล่าที่เรียกว่า “ไซบีเรีย” สตีฟ จ๊อบส์ก็ตัดสินใจลาออกจาก Apple และแจ้งให้บอร์ดทราบ จ๊อบส์บอกว่าจะขอลาออกจากประธานบริษัทไปตั้งบริษัทใหม่ และแจ้งบอร์ดว่าจะขอเอาพนักงานบางคนออกไปอยู่ด้วย ตอนแรกดูเหมือนจะเป็นการจากกันด้วยดี มีการพูดคุยกับ John Sculley ถึงความเป็นไปได้ที่ Apple จะร่วมลงทุนในบริษัทใหม่
บอร์ดไม่ได้อนุมัติตามคำขอ โดยขอให้คิดให้ดีก่อน สัปดาห์หน้าค่อยมาคุยกันใหม่ แต่ปรากฎว่าเช้าวันรุ่งขึ้นมีการประชุมบอร์ด และบอร์ดลงมติยอมรับการลาออกของจ๊อบส์และมีผลในทันที ซึ่งเป็นผลจากรายชื่อพนักงานที่จ๊อบส์ต้องการเอาไปด้วย ล้วนแต่เป็นคีย์แมนในบริษัททั้งสิ้น
จ๊อบส์ได้ส่งข่าวถึงสื่อมวลชนถึงแผนการตั้งบริษัทใหม่ ข่าวที่ลงใน New York Times คือ จ๊อบส์จะไปตั้งบริษัทใหม่ ทำคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาในระดับไฮเอนด์ และจะใช้ซอฟต์แวร์ที่แตกต่างจาก Apple แต่ไม่มีรายละเอียดอะไร (ตอนนั้นจ๊อบส์ยังไม่มีแนวคิดเรื่อง NeXT ด้วยซ้ำ)
สัปดาห์ต่อมา Apple ยื่นฟ้อง Steve Jobs ว่านำความลับของบริษัทไปใช้ และจะตั้งบริษัทใหม่โดยชักชวนพนักงานบริษัทไปด้วย ในขณะที่ยังดำรงตำแหน่งประธานบริษัท
จ๊อบส์ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ว่า มีการพูดคุยเรื่องการตั้งบริษัทใหม่อย่างตรงไปตรงมานานหลายชั่วโมง และเค้าคิดว่าการเจรจานั้นประสบความสำเร็จ จึงออกข่าวออกไป การฟ้องร้องเป็นเรื่องที่จ๊อบส์แปลกใจและผิดหวังมาก
การฟ้องร้องไปถึงศาล และจบด้วยการยอมความในเดือนมกราคมปีถัดมา ข้อตกลงคือ จ๊อบส์ต้องไม่ดึงคนจาก Apple อีกภายในหกเดือน และเครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัทใหม่ต้อง “ดีกว่า เร็วกว่า” ของ Apple แปลกมั้ยครับ
ในตลาดคอมพิวเตอร์ขณะนั้นแบ่งตลาดเป็นสองส่วน คือ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล มี IBM PC และ Macintosh แย่งตลาดกันอยู่ กับอีกตลาดคือตลาด Workstation มี Sun, HP และยักษ์ใหญ่อีกหลายเจ้าเล่นอยู่
Apple บีบบังคับให้บริษัทใหม่ของจ๊อบส์ต้องขึ้นไปเล่นตลาด workstation ไม่ให้มายุ่งกับตลาด personal computer นั่นเอง เรื่องนี้จึงบีบบังคับให้เมื่อตั้ง NeXT ขึ้นมาเครื่อง NeXT จึงอยู่ในระดับ workstation
หลายเดือนต่อมาเมื่อจ๊อบส์ตั้งบริษัท NeXT ขึ้นมา ใส่เงินส่วนตัวไป 7 ล้านเหรียญ และวางแผนจะใส่เงินอีก 5 ล้านเหรียญ Ross Perot ได้ยินเรื่องราวการตั้งบริษัทใหม่จึงมาร่วมทุนด้วย ใส่เงินมาอีก 20 ล้านเหรียญ การลงทุนนี้ถือว่าดีมากในตอนนั้น
NeXT ถือเป็น startup ที่มีเงินล้นเหลือ จ้างนักพัฒนาด้วยอัตราที่สูงมาก ใช้เงินมาก โลโก้บริษัทออกแบบโดย Paul Rand ด้วยค่าจ้าง 100,000 เหรียญ Paul Rand มีชื่อเสียงมาก เป็นคนออกแบบโลโก้ IBM
Paul Rand ตกลงออกแบบให้ โดยมีข้อแม้ว่าจะออกแบบเพียงครั้งเดียว ห้ามแก้ จะเอาก็เอาไม่เอาก็โยนทิ้งไป เค้าไม่แก้งานตัวเองเด็ดขาด
ผลคือโลโก้ที่เป็นรูปกล่องของ NeXT ที่โด่งดังนั่นเอง….
ตอนหน้าจะมาเล่าเรื่อง NeXT คอมพิวเตอร์ต่อว่ามันดียังไง