โจรสลัดในวงการไอที

หลังจากที่ Steve Jobs ไปชวน John Sculley ออกจากเป๊บซี่มานั่งเป็น CEO ของ Apple ระยะแรกทั้งคู่ก็เข้ากันได้ดี จ๊อบส์คุมทีม Macintosh ซึ่งเปิดตัวได้สวยงาม แม้มีปัญหาในเวอร์ชั่นแรก แต่ก็แก้ปัญหาได้และเป็นที่กล่าวขวัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการพิมพ์

ปัญหาคือยอดขายไม่เติบโต แต่กลับลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากถูกกระหน่ำจากกระแสความนิยมของ IBM PC และเครื่อง compatible จากไต้หวัน รวมทั้งข่าวที่ไมโครซอฟต์จะออกวินโดวส์

ด้วยความที่ Sculley เป็นนักธุรกิจมืออาชีพ จึงต้องการขาย Macintosh ให้ได้กำไรสูงสุด ไม่ยอมเพิ่มสเป็ก CPU ตามที่ Jobs ต้องการ แถม Jobs ยังอยากให้ลดราคาลงอีก จึงเริ่มระหองระแหงกัน

ทีมงาน Macintosh นั้นเป็นทีมงานที่เป็นเอกเทศ จ๊อบส์สร้างวัฒนธรรมการทำงานที่เป็นเหมือน บริษัทในบริษัท ในการประชุมตอนก่อตั้งทีมนี้ Jobs ให้หลักการไว้ 3 ข้อ คือ

1. พวกเราคือศิลปิน (Real artists ship)

2. เป็นโจรสลัดดีกว่าเป็นทหารเรือ (It’s better to be a pirate than join the navy)

3. Macintosh ต้องประสบความสำเร็จในปี 1986

ไอ้หลักการข้อที่ 2 นี่แหละที่โด่งดัง นัยยะคือ จงคิดนอกกรอบ ทำทุกอย่างเพื่อบรรลุเป้าหมาย อย่าถูกจำกัดด้วยกฎเกณฑ์ใดๆ

แน่นอนว่าเป็นสภาพแวดล้อมที่ถูกใจบรรดาคนเก่งๆที่ไม่ต้องการมีข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ และสามารถใช้ความสามารถเฉพาะตัวสร้างสรรค์ได้อย่างไม่มีขีดจำกัด

หลายคนอินกับเรื่องนี้มาก หนึ่งในนั้นคือ Steve Capps ตัดผ้าสีดำเย็บเป็นธง แล้วให้ Susan Kare คนออกแบบ UI ของ Mac วาดรูปหัวกระโหลก คาดตาด้วยโลโก้ Apple แล้วติดไว้ที่ผนังออฟฟิส เป็นสัญญลักษณ์ที่โด่งดังมาก

แต่เป็นเรื่องน่าปวดหัวสำหรับผู้บริหาร โดยเฉพาะ Sculley ที่มาจากสายธุรกิจที่เป็นมืออาชีพทางธุรกิจ ย่อมยอมรับไอ้พวกโจรเหล่านี้ไม่ได้ง่ายๆ

ในทีมกลับไม่ราบรื่นอย่างที่จ๊อบส์หวัง หลายคนในทีมเริ่มรับไม่ได้กับพฤติกรรมของจ๊อบส์ ที่เร่งงาน และก้าวร้าวดุดัน ราวกับเป็นเรือโจรสลัดจริงๆ

เมื่อมีปัญหา และยอดขายไม่เป็นไปตามคาด ในที่สุดก็ถึงจุดแตกหัก ความขัดแย้งขึ้นไปถึงบอร์ด และบอร์ดก็เข้าข้าง Scully ยื่นคำขาดให้จ๊อบส์ออกจากทีม Macintosh ไปอยู่แผนกสินค้าใหม่ หรือไม่ก็ลาออก

ออฟฟิสใหม่ของจ๊อบส์ ในบริษัท Apple เรียกว่า “ไซบีเรีย” คือทั้งโดดเดี่ยวและเหน็บหนาว ไม่มีงานอะไรทำ สุดท้ายจ๊อบส์จึงยื่นใบลาออก

ตรงนี้ก็ถกเถียงกันว่า จ๊อบส์ถูกไล่ออก หรือลาออกเอง คิดเอาเองละกันครับ ไม่ไล่ก็เหมือนไล่ จ๊อบส์กล่าวกับเพื่อนสนิทว่า “มันคือการทรยศ”

จ๊อบส์ออกจาก Apple ด้วยจิตใจผิดหวัง ท้อแท้ และโกรธแค้น คิดจะไปให้พ้นจาก Silicon Valley แต่แล้วก็คิดว่า เค้าไม่สามารถทิ้งชิวิตสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่รักได้ จึงกลับไปชวนบรรดาโปรแกรมเมอร์ที่ยังเชื่อมั่นในตัวเค้า ไปตั้งบริษัใหม่ นั่นคือ “NeXT”

ในปาฐกถาปัจฉิมนิเทศที่สแตนฟอร์ดที่โด่งดัง จ๊อบส์เล่าถึงตอนนั้นว่า

“การถูกไล่ออกจาก Apple เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตที่ได้รับ ภาระที่หนักอึ้งที่แบกไว้อันเนื่องจากความสำเร็จถูกปลดออก เหลือเพียงความเบาสบายที่ได้เริ่มต้นใหม่ ไม่คาดหวังอะไร รู้สึกเป็นอิสระที่ได้เข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการสร้างสรรค์ที่สำคัญยิ่งของชีวิต….”

และผลจากการนั้น ก็ได้บริษัที่ดีที่สุดสองบริษัทเกิดขึ้นคือ NeXT และ Pixar ซึ่งเป็นบริษัท Animation ที่ซื้อมาจาก Lucus Art และบริษัทแรกได้สร้างคอมพิวเตอร์ที่ยิ่งใหญ่เป็นรากฐานของ Macintosh ในปัจจุบัน และบริษัทที่สองก็สร้างปรากฎการณ์ของภาพยนต์ Animation สมัยใหม่ให้โลกได้ชื่นชม…