การเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ เมื่อสร้างสรรค์ผลงานที่ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง กับดักที่จะเป็นอุปสรรคของการเติบโตคือความหวงแหนผลิตภัณฑ์ของตัวเองครับ วันนี้จะมาเล่าเรื่องที่เป็นอุทธาหรณ์ของโปรแกรมเมอร์ทั่วโลก
ในปี 1980 วงการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเริ่มคึกคักจากความสำเร็จของ Apple ][ ที่เปิดตัวในปี 1977 บริษัทยักษ์ใหญ่ IBM เห็นว่าจะปล่อยตลาดนี้ไปไม่ได้ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC – Personal Computer) กำลังจะถูกใช้ในธุรกิจ IBM ตัดสินใจทำ IBM PC ในปี 1980
ตลาดตอนนั้นกำลังเปลี่ยนจาก 6502 ใน Apple ย้ายไป Z80 และ Intel ออก 8080 ออกมา IBM เลือกตระกูล 8086 ของ Intel ปัญหาคือ ยังไม่มี OS ในตลาดมี OS ตัวนึงชื่อ CP/M ของบริษัท Digital Research Inc (DRI) เจ้าของชื่อ Gary Kildall ที่เป็นไปได้มากที่สุดซึ่งรันใน 8800 (เครื่อง Altair) และ 8080 (เครื่อง IMSAI และ Osborne 1) IBM ก็เลยคิดว่าซื้อ CP/M มาทำต่อดีกว่า
IBM ส่งผู้บริหารไปหา Gary Kildall แต่พอถึงวันนัด ไม่รู้อีตา Gary นึกยังไง บินไปหาลูกค้าซะงั้น ปล่อยให้ผู้บริหาร IBM เจอกับเมีย (Dorothy McEven) คอยเจรจากับ IBM ด้วยเหตุผลบางอย่างของผู้หญิงซึ่งโปรแกรมเมอร์อย่างเราๆยากจะเข้าใจ คุณเธอไม่ยอมเซ็น NDA (สัญญาห้ามเปิดเผยความลับ) การเจรจาก็เลยเป็นไปไม่ได้ แน่นอนว่าผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ กับงานหมูๆแค่ไปซื้อ OS จากบริษัทเล็กกระจ้อยร่อย ดันทำไม่สำเร็จ หน้าแตกกลับไปโดยไม่ได้แม้แต่เจรจา
Kildall กลับมาในเย็นวันนั้น แต่ IBM จากไปแล้ว และผู้บริหาร IBM ก็บินตรงไปซีแอตเติ้ลในคืนนั้นเลย เพื่อไปเจอกับละอ่อน ที่ชื่อ BIll Gates ซึ่งเป็นคนทำโปรแกรมภาษา Basic ในเครื่อง Altair
เด็กน้อย Bill Gate ไม่มีอะไรจะเสีย กรูไม่มีอะไรในมือเลย แต่บอก IBM ว่า ไม่ต้องห่วงเดี๋ยวจัดการให้ ในใจรู้ว่าในซีแอ็ตเติ้ลมีคนพอร์ต CP/M มาลง 8086 แล้ว
ก่อนหน้านั้น SCP เป็นบริษัทเล็กๆ จ้างโปรแกรมเมอร์ชื่อ Tim Paterson มาทำ OS ให้ Tim ใช้เวลาทำ OS แค่ 6 สัปดาห์ เลยตั้งชื่อ OS ว่า QDOS (Quick & Dirty Operating System) แปลเป็นไทยว่า “โอเอสงานเผาห่วยๆ”
Bill Gates จึงไปซื้อ QDOS มาในราคา 75,000 เหรียญ ซึ่งซอร์สโคดงานเผานั่นเป็น Assembly จำนวน 4,000 บรรทัด พร้อมกับชวน Tim Paterson มาทำงานด้วย
จากนั้นก็เริ่มกระบวนการคลีนโค๊ดขนานใหญ่ จนได้โอเอสที่ใช้ได้ออกมาในเดือนกรกฎาคม 1981 ขายให้ IBM ไปแปะชื่อใหม่ “IBM PC-DOS” แถมไปกับเครื่อง IBM PC ก่อนที่จะออกตลาด IBM ได้ทำการทดสอบคุณภาพ และต้องแก้บั๊กใน PC-DOS ไปราวๆ 300 บั๊ก และตัดสินใจเขียนบางส่วนใหม่ (PC-DOS จึงถือลิขสิทธิ์ร่วมกันระหว่า IBM กับ Microsoft)
IBM ก็คงรู้ว่าไอ้ DOS ของเจ้าหนูนี่มันของเด็กเล่น ยังคงตั้งเป้าใช้ CP/M ซึ่งเหนือกว่ามาก และก็ดีลกับ Gary Kildall สำเร็จ ในเครื่องรุ่น AT จึงให้ลูกค้าเลือก แต่ Gary คิดราคามหาโหด 495 เหรียญ ในขณะที่ PC-DOS ราคา 39.95 เหรียญ เป็นความผิดพลาดครั้งที่สองของ Gary
ในแวดวงก็พบว่าการเขียนโปรแกรมสำหรับ PC-DOS นั้นง่ายกว่า CP/M มากทั้งที่ CP/M แพงกว่า ดังนั้นความนิยมของ PC-DOS จึงเหนือกว่ามาก
IBM พลาดที่ไม่ได้ซื้อสิทธิ์ทั้งหมดของ DOS ไว้ ในปี 1986 ไมโครซอฟต์ก็ออก MS-DOS และในช่วงนั้นเองเครื่องคอมพิวเตอร์จากไต้หวันก็ถล่มตลาด และ MS-DOS ก็ถูกขายไปยังเครื่องมากกว่า 70 ยี่ห้อ
ในขณะที่ IBM ออกเครื่อง PS/2 ที่แสนจะไฮโซใช้กับ PC-DOS ต่อไป เส้นทางของ IBM และไมโคซอฟต์ก็ออกห่างจากกันนับแต่นั้น…
ไมโครซอฟต์ก็ประสบความสำเร็จในตลาด PC อย่างล้นหลาม บทเรียนที่น้องๆต้องจำคือบทเรียนของ Gary Kildall จำไว้ว่า โอกาสที่มาเคาะประตูหน้าบ้านเราไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน จงคว้าโอกาสและทำมันให้ดีที่สุด