มาตรฐานของอุณหภูมิและความชื้น

โดยทั่วไปเมื่อพูดถึงการรับความรู้สึกของร่างกาย เราจะนิยามว่ามีสิ่งที่ร่างกายรับรู้ได้ 5 อย่างคือ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส ซึ่งสิ่งมีชีวิตจะมีอวัยวะรับความรู้สึกที่รับรู้สิ่งต่างๆดังกล่าว แล้วส่งให้สมองตีความเป็นความรู้สึกและการรับรู้ในแง่มุมต่างๆ เช่น รับรู้ถึงความงามของภาพ รับรู้ถึงความรื่นรมย์ในเสียงดนตรี หรือเคลิบเคลิ้มกับการสัมผัส ฯลฯ

การรับรู้เหล่านี้เป็นการตีความของสมองซึ่งแตกต่างกันในแต่ละบุคคล และเกิดข้อถกเถียงกันมากมายในเรื่องเหล่านี้ เช่น ความงามนั้นเป็นเป็นอัตวิสัย (subjective) คือเป็นเรื่องส่วนบุคคล หรือเป็นวัตถุวิสัย (objective) คือเป็นคุณสมบัติของสิ่งของเอง จะมาเล่าเรื่องความงามอีกทีในหนังสือ “ปัญญาประดิษฐ์และงานศิลปะ” ที่กำลังเขียน

นอกจากนี้ยังมีการรับรู้ความรู้สึกอีกสองอย่างที่นอกเหนือจากการรับรู้ทั้งห้าดังกล่าว คือ เราสามารถรับรู้อุณหภูมิและความชื้นของสิ่งแวดล้อมได้ และสมองจะตีความได้ว่ารู้สึกสบาย (comfort) หรือไม่ในสภาพแวดล้อมนั้นๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องอัตวิสัยเช่นกัน คือแต่ละคนจะรู้สึกสบายไม่เท่ากันในสภาพแวดล้อมเดียวกัน

และเนื่องจากเราสามารถควบคุมทั้งอุณหภูมิและความชื้นได้ ทำให้เกิดอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศขึ้น ทำให้บรรดาผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศต้องหาช่วงของอุณหภูมิและความชื้นที่ “สบายที่สุด” สำหรับคนส่วนใหญ่ขึ้นมา จึงเกิดการสำรวจในเรื่องนี้

การสำรวจพบว่าความชื้นของอากาศที่ทุกคนในกลุ่มสำรวจรู้สึกพ้องกันว่าไม่สบายคือต่ำกว่า 30% หรือเกิน 70% และในทำนองเดียวกัน อุณหภูมิที่ทุกคนในกลุ่มสำรวจรู้สึกเหมือนกันว่าไม่สบายคือ ต่ำกว่า 18 C หรือ สูงกว่า 29 C

กราฟสำรวจช่วงความสบาย
ของอุณหภมิและความชื้น

จากการสำรวจดังกล่าว ก็นำมาพล็อตกราฟ เทียบกับกราฟที่บ่งความรู้สึก และได้มีการออกมาตรฐาน ANSI/ASHRAE 55-1992 ที่ระบุช่วงที่สบาย (comfort zones) สำหรับภายในอาคารขึ้นมา (ANSI คือ สถาบันมาตรฐานแห่งสหรัฐอเมริกา – American National Standards Institute และ ASHRAE คือ สมาพันธ์วิศวะกรรมด้านเครื่องทำความร้อน, ตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศแห่งสหรัฐอเมริกา – American Society of Heating, Refrigerating and Air-Conditioning Engineers)

มาตรฐานดังกล่าวระบุว่าช่วงสบายของฤดูร้อนและฤดูหนาว เป็นดังนี้

ฤดูร้อน

  • ความชื้นที่สบายคือ 30% ถึง 70%
  • อุณหภูมิที่สบายคือ 23 C ถึง 25 C

ฤดูหนาว

  • ความชื้นที่สบายคือ 30% ถึง 70%
  • อุณหภูมิที่สบายคือ 19 C ถึง 22 C

แม้ว่ามาตรฐานดังกล่าวเป็นของอเมริกาและเกิดจากผลสำรวจในอเมริกา แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป แต่ผมรู้สึกว่าเมืองไทยไม่ค่อยจะเป็นไปตามนั้นเท่าไร ไปประชุมนอกออฟฟิสทีไร รู้สึกหนาวแทบทุกห้องประชุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องประชุมขนาดใหญ่ หรือโรงแรมขนาดใหญ่ รู้สึกหนาวมากทุกที

นอกจากนี้ความรู้สึกสบาย ยังขึ้นกับอีกหลายการรับรู้ ซึ่งก็มี comfort zone อีกเช่นกัน เช่น เสียงดนตรีในคอฟฟี่ช็อปจะมีช่วงความดังที่คนส่วนใหญ่รู้สึกเพลิดเพลินและไม่รู้สึกน่ารำคาญ, ภาพจากจอภาพหรือป้ายโฆษณาก็จะมี comfort zone ของความสว่างที่ทำให้รับรู้ถึงความสวยงามสบายตาไม่รู้สึกแสบตาและไม่อยากมอง

เอาเรื่องนี้มาเล่าให้ฟังก่อน เพราะเป็นพื้นฐานสู่เรื่องมาตรฐานของความสวยงาม เพราะกำลังเขียนเรื่องปัญญาประดิษฐ์กับการสร้างสรรค์งานศิลปะ แน่นอนว่าการสร้างสรรค์งานศิลปะที่ประทับใจเกี่ยวข้องกับความงาม ซึ่งความงามเป็นอีกเรื่องที่เป็นข้อถกเถียงมากว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล (อัตวิสัย) หรือเป็นคุณสมบัติของวัตถุเอง (วัตถุวิสัย)

แล้วจะมาเล่าให้ฟังต่อครับ